|
Multi-track VS. Two-track โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ การบันทึกแต่ต้นเมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว จะเป็นแบบ “บันทึกสดๆ (real-time)” โดยทั้ง นักร้อง, นักดนตรีทั้งวง จะร้อง, เล่น ไปพร้อมๆ กันดุจการแสดงสดบนเวที มีไมโครโฟน 1 ตัว (ยุคบันทึกเสียงแบบโมโน), 2 ตัว (ยุคถัดมาที่บันทึกสเตอริโอ 2-ch) อาจมีไมโครโฟนอีก 1-2 ตัวเสริมรับความกังวานรวมๆ เพื่อช่วยสร้างบรรยากาศ ขณะบันทึก ถ้าผิดพลาดก็ต้องตั้งต้นบันทึกเพลงนั้นใหม่ทั้งเพลง วิธีนี้ปัจจุบันแทบไม่มีใครใช้แล้ว นอกจากค่ายเพลงเล็กๆ ที่ทำอัลบั้มเพลงแบบเน้นคุณภาพเสียง, มิติเสียง และอารมณ์เพลงจริงๆ อีกแบบของการบันทึกคือ “ระบบหลายร่องเสียง (multi-track)” โดยเพิ่มไมโครโฟนมากขึ้น เช่น กลุ่มเครื่องเป่าอาจใช้ไมโครโฟน 2 ตัว กลุ่มเครื่องสายใช้ 3 ตัว กลองใหญ่ เช่น ทิมปานี ก็ 1 ตัว กลองชุด (พร้อมฉาบ) 4 ตัว เปียโน 1-2 ตัว เครื่องเคาะ 1-2 ตัว ดับเบิลเบส 1-2 ตัว กลุ่มร้องประสานประกอบ สัก 2 ตัว นักร้อง 1 ตัว/คน รวมใช้ไมค์ 19 ตัว นี่ถือว่าค่อนข้างน้อยแล้วสำหรับการบันทึกแบบ multi-track ถ้าจะเอาคุณภาพสุดๆ ต้องเพิ่มไมค์อีกไม่ต่ำกว่า 4-10 ตัว จากไมโครโฟนแต่ละตัวก็จะเข้าสู่แต่ละร่องเสียง (channel) ของเครื่องผสมเสียง (mixer, มิกเซอร์)
ข้อดีของการบันทึกเสียงแบบ real-time สดๆ 1. ให้บรรยากาศที่เป็นเนื้อเดียวกันได้ดีที่สุด แต่ก็ต้องกระจายชิ้นดนตรีแต่ละกลุ่ม (หรืออาจถึงแต่ละชิ้น) ให้แยกอิสระจากกลุ่มอื่นๆ มากที่สุด เพื่อมิให้เสียงตีกันจนผสมปนเปเป็นเนื้อเดียวกันอย่างไม่มีนัยสำคัญ หรือไม่แยกความชัดเจนไปแต่ละชิ้น (เป็นก้อนคลุมเครือเดียวกัน) เพราะผู้อำนวยเพลง นักร้อง นักดนตรี ไม่เข้าใจประเด็นนี้ จึงมักพบว่า แต่ละอัลบั้มที่บันทึกแบบนี้ แต่ละเสียงไม่คมชัด ทรวดทรงไม่หลุดลอย แยกแยะเท่าที่ควร ทำให้วิธีนี้ถูกโจมตีว่า สู้แบบ multi-track ไม่ได้ 2. ใช้ตัวมิกเซอร์แค่ 4 ~ 6 ch ก็พอ ทำให้ลงทุนกับมิกเซอร์คุณภาพสูงมากๆ ได้ 3. เม่ือมิกเซอร์มีขาเข้า input น้อย โอกาสจะถูกรบกวนจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าขยะจากภายนอกที่จะเข้ามาทาง input ก็น้อยลงมาก 4. ประหยัดจำนวนไมโครโฟนได้มาก ทำให้ทุ่มกับไมโครโฟนระดับไฮเอนด์ได้ รวมทั้งใช้สายไมโครโฟนดีๆ ได้ แทนที่จะใช้หลายๆ ตัว แต่คุณภาพแค่พื้นๆ ข้อดีของระบบบันทึกแบบ multi-track 1. สามารถแยกปรับเสียงให้แต่ละกลุ่มของเครื่องดนตรีในวง เพื่อให้ทุกๆ กลุ่มจะได้สมดุล ไม่มีกลุ่มไหนค่อยไปหรือดังล้ำหน้า แม้ห้องจะเล็กไปบ้างจนกระจายกลุ่มดนตรีไม่ได้ (อาจใช้ฉากกั้นเสียงช่วยได้บ้าง) 2. สามารถแต่งเสียงชด-เชย (EQ) ให้แก่แต่ละกลุ่มให้เหมาะหับชนิดของเครื่องดนตรีกลุ่มนั้นๆ หรือปัญหาจากอะคูสติกส์ที่อาจส่งผลต่อแต่ละกลุ่มต่างๆ กันไป ก็อาจแยกการแก้ปัญหาได้ 3. อาจแก้ไขปรับแต่งผังการจัดวางดนตรีแต่ละกลุ่มให้เหมาะสมกับเวทีเสียงที่ต้องการ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเหมือนตอนเล่น, บันทึกจริงๆ 4. ในกรณีที่บันทึกดนตรีน้อยชิ้น ใช้ไมค์จ่อแต่ละชิ้นดนตรีเลย การบันทึกอาจจ่ายให้ 1 ชิ้นดนตรีต่อ 1 ร่องเสียง (track) ถ้าบันทึกดนตรี 10 ชิ้นก็ 10 ร่อง ยิ่งทำให้การแก้ไข ปรับแต่ง หรือเติมชิ้นดนตรีเพิ่ม หรือลดทีหลังได้ เช่น เอาเสียงร้องเดิมออก ใส่เสียงใหม่เข้าไปแต่ดนตรีเดิม หรือเพิ่มชิ้นดนตรีทีหลังได้ 5. สามารถแต่ง, เติมเสียงพิเศษ (sound effect) ได้ง่ายกว่า ถ้าการบันทึก multi-track ขีดวงขอบเขตแค่นี้โดยบันทึก “ทั้งวง” พร้อมๆ กัน คุณภาพเสียงที่ได้ถือว่าสามารถทำได้ดีเท่าไรก็ได้ แต่ในปัจจุบันมันแย่กว่านั้น แทนที่จะให้ทั้งวงมาเล่น, มาร้องพร้อมๆ กัน กลับแยกบันทึกทีละชิ้นดนตรี นักดนตรีคนไหนว่างก็มาบันทึกแก็บไว้ 1 ร่อง นักดนตรี, นักร้อง ไม่ค่อยได้เจอกัน หรืออยู่พร้อมหน้ากันสักที เรียกระบบปะผุ, ตัดต่อ ผลคือ ไม่เกิดอารมณ์ร่วมเป็นหนึ่งเดียวในหมู่นักดนตรี, นักร้อง สักแต่ว่าร้องให้จบๆ ไป เล่นให้ครบๆ เท่านั้น ไม่เกิดความดื่มด่ำได้เลย
ข้อเสียของการบันทึกหลายร่องเสียง 1. น่าเศร้าที่ปัจจุบันการทำอัลบั้มเพลงไทย (ต่างประเทศก็คงใช้เช่นกัน) 99% ใช้วิธี multi-track แบบคนละที ไม่มีรวมญาติ เสียงจึงออกมาแบบไร้อารมณ์ ไม่ม่เสน่ห์ คุณภาพมิติเสียงเละเป็นโจ๊ก ทรวดทรงไม่มี ตำแหน่งเสียงฟุ้งกระจายเบลอ ไม่นิ่ง ไม่โฟกัส ลำดับตื้นลึกไล่เป็นชั้นๆ (layer) ไม่มี การบันทึกคนละทีดังที่กล่าวมานี้ ควรนับเป็นข้อเสียประการหนึ่งของการบันทึกแบบหลายร่องเสียงได้เช่นกัน 2. เนื่องจากต้องใช้ไมค์เป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องลงทุนสูงมาก ไมค์ดีๆ แค่พอใช้ได้ก็ต้องมีราคากว่า 1 หมื่นบาท ถ้าจะเอาดีมีระดับก็ต้อง 3-4 หมื่นบาท เอาดีแบบเก็บทุกเม็ดไม่มีพร่าไม่มีเพี้ยนก็ราคาเป็นแสนบาทขึ้นไป ถ้าต้องใช้ไมค์ทีหนึ่งแค่ 15 ตัว (วงประมาณ 20-30 ชิ้น) ค่าไมค์ก็ 1.5-6 แสนบาทถึง 1.5 ล้านบาท คงหายากที่ห้องบันทึกไหนจะกล้าลงทุนค่าไมค์อย่างเดียวหลายๆ แสนบาทอย่างนี้ อย่างเก่งก็ระดับ 1.5 แสนบาท (ไมค์ระดับหมื่นกว่าบาทกับ 4-7 หมื่นบาท เสียงต่างกันได้ 20-60% ทีเดียว) เป็นความเข้าใจผิดอย่างมากที่จะคิดว่า การใช้ equalizer, BBE หรือเครื่องช่วยเพิ่มความชัดของเสียงมาช่วยเพิ่มคุณภาพของไมค์ได้ เมื่อต้นน้ำอั้น (ไมโครโฟน) จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะหวังว่า คุณภาพในขั้นตอนต่อจากนั้นจะดีได้ ไม่ว่าจะใช้วิธีการพลิกแพลงเสกเป่าอย่างไรหลังจากไมโครโฟนต่อๆ มา และแน่นอน มันจะลบข้อดีของการบันทึกแบบหลายร่องเสียงจนหมด 3. ถ้าใช้ไมค์แบบไร้สาย (wireless) ส่งเป็นคลื่นวิทยุมายังตัวรับแล้วเป็นสัญญาณเสียงเข้าตัวมิกเซอร์ คลื่นวิทยุ (RF) เหล่านี้จะป่วนคุณภาพเสียงของกันและกัน (ที่ไมโครโฟน) และของอุปกรณ์อื่นๆ ทุกตัวในห้องบันทึก ไม่ว่าดิจิตอล หรือแอนะลอก เสียงจะบาง, แบนไม่มีทรวดทรง ขาดฮาร์โมนิกส์ ไม่หลุดลอยออกมา ลบความสงัดระหว่างตัวโน้ต, คำร้อง เวทีเสียงจะขุ่น มีม่านหมอก ความฉ่ำพริ้วจะลดลง การสวิงเสียงดัง-ค่อย (dynamic range) จะแคบลง เสียงพร่าเพี้ยนได้ง่ายขึ้น มิติเสียงแบน, แกว่ง ไม่นิ่ง รายละเอียดหยุมหยิมเลือนหาย ความมีวิญญาณของเสียงหาย 4. คุณภาพของตัวมิกเซอร์จะมีอิทธิพลต่อคุณภาพเสียงของแต่ละร่องเสียงอย่างมาก 5. เนื่องจากต้องใช้มิกเซอร์นับสิบๆ ร่องเสียง ทำให้ราคาสูงมากเกินงบ ต้องลดคุณภาพของตัวมิกเซอร์ลงอย่างมาก คุณภาพเสียงโดยรวมจึงแย่ลง 6. มิกเซอร์ยิ่งมีร่องเสียงมากแค่ไหน ยิ่งเปิดโอกาสให้ขยะคลื่นวิทยุความถี่สูงจากภายนอกเล็ดลอดเข้าไปรบกวนป่วนคุณภาพเสียงได้มากขึ้นแค่นั้น 7. แม้ใช้ไมค์แบบสาย แต่ถ้าใช้เยอะหลายตัว สายไมค์จะแตะต้องกัน ป่วนกันเองได้ง่ายขึ้น ยกหนีพื้นห้องได้ลำบากขึ้น (การนำสายต่างๆ มามัดรวมกันถือว่าผิด คุณภาพเสียง, มิติเสียง จะแย่ลง) 8. การใช้หลายร่องเสียงจะแจกจ่ายหรือกำหนด “บรรยากาศ” ของแต่ละร่องเสียงให้เป็นเอกลักษณ์แต่สอดรับกลมกลืนกันและกันอย่างเป็นองค์รวมในท้ายที่สุดอีกทีได้ยากมาก ทุกๆ ชิ้นดนตรีจึงเหมือนให้บรรยากาศ “ตายตัวเดียวกัน” ตลอดเวลา ไม่เป็นของใครของมันแล้วรวมร่วมกันเป็นบรรยากาศรวมอีกที ถ้าจะทำให้ดีจริงๆ ทำได้ แต่ต้องเก่งจริงๆ ทั้งการปรับแต่งและการฟัง (ซึ่งหายากมากๆ)
ความเป็นมาและเป็นไป แหล่งรายการหลักคือ จานเสียง การบันทึกเสียงจะเป็นแบบสดๆ ใช้ไมค์น้อยที่สุด ต่อมาเริ่มบันทึกแบบหลายร่องเสียงโดยค่าย phase 4 นำเสนอเป็นเจ้าแรก ซึ่งก็ยังคงเป็นการบันทึกสดๆ พร้อมกันทั้งวง เท่าที่เคยฟังจากหลายๆ อัลบั้ม คุณภาพเสียงไม่สู้แจ่มชัดนัก ยังเป็นรองจานเสียงในยุค 30 ปีที่ผ่านมา อาจเป็นเพราะเทคโนโลยีตัวบันทึกสมัยก่อนยังเป็นระบบแอนะลอก (เทปม้วนเปิด) ไม่ใช่ระบบดิจิตอลเทป อีกทั้งความพิถีพิถันก็ต่างกัน อัลบั้มจานเสียงจากค่ายเพลงเล็กๆ ที่เน้นเสียง, มิติไฮเอนด์อย่าง Shefield Lab, Mobile Fidelity, Denon, JVC เป็นต้น จะให้เสียงคมชัด, สดใส, มีน้ำหนักและมิติดีกว่าค่ายยักษ์ใหญ่ โดยค่ายเล็กๆ 2 ค่ายแรกจะบันทึกสดแบบใช้ไมค์น้อยที่สุดเพื่ออารมณ์และบรรยากาศที่สมจริงที่สุด ปัจจุบันการบันทึกเสียงแทบทั้งหมดจะเป็นแบบหลายร่องเสียงทั้งสดและตัดต่อ, ปะผุดังกล่าวแล้ว ยิ่งถ้าเป็นเพลงไทยยิ่งตัดต่อทั้งนั้น เชื่อไหมว่า มีนักร้องเพลงวัยรุ่นหลายๆ คน ร้องเพลงแบบเอาแต่ละช่วงมาตัดต่อ แก้ผิดถูก ปะผุทั้งเพลงด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ไม่ได้ร้องทีเดียวจบเพลง พวกนี้เวลาขึ้นเวทีจะใช้การเปิดเสียงของตนเองจากแผ่น CD เรียก lip-sync (สังเกตว่ากระโดดโลดเต้นตลอดเพลง แต่เสียงไม่มีหอบเหนื่อยเลย บางครั้งร้องสดแต่เพลงแรกๆ หลังจากนั้น lip-sync ตลอด ฝรั่งก็ทำเหมือนกัน) ปัจจุบันมีเครื่องบันทึกเสียงแบบพกพาขนาดแค่ฝ่ามือกว่าๆ เป็นระบบดิจิตอลบันทึกลงการ์ดความจำ พร้อมไมค์คู่แบบสเตอริโอออกมาหลายยี่ห้อไม่ว่า Olympus, Sony, Tascam, M-Audio (ดูเหมือนจะมี Yamaha ด้วย) ฯลฯ มีทั้งแบบ semi-pro และ pro บันทึกไฟล์เสียงได้ระดับมาตรฐานถึงระดับมาสเตอร์ (LPCM 24-bits 96kHz) ทีเดียว ด้วยสนนราคาที่ไม่แพงมากมายนัก 1-2 หมื่นกว่าบาท (แบบชาวบ้านทั่วไปราคา 3-4 พันบาทก็มี) นี่เป็นการบันทึกแบบสดและใช้ไมโครโฟนน้อยที่สุด (one-point microphone) บางรุ่นต่อไมค์คุณภาพสูงเพิ่มได้ เครื่องบันทึก semi-pro แบบนี้ ในอเมริกา, ญี่ปุ่น เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นๆ ก็ได้แต่ภาวนาให้การแสดงคอนเสิร์ตต่างๆ ไม่หวงห้ามในการที่ผู้ฟังจะนำเครื่องบันทึกดังกล่าวมาบันทึกเก็บไว้กลับไปฟังส่วนตัวเพื่อรำลึกวันที่ได้มาชม ไม่ควรหวงห้าม เพราะบันทึกให้ตายอย่างไรก็คงสู้ฟังจากอัลบั้มเพลงของวงที่ทำขายไม่ได้ หากแต่พวกเขาบันทึกเพื่อดื่มด่ำบรรยากาศในวันที่มาฟังนักร้อง, นักดนตรีขวัญใจของพวกเขาเท่านั้น คงไม่มีใครนำไปก็อปปี้ขายหรอก ใครจะซื้อ พวกเขาซื้อแผ่น CD จริงๆ เลยไม่ดีกว่าหรือ ก็ได้แต่หวังว่า ผู้จัดคอนเสิร์ตเอง, นักร้อง, นักดนตรี ฯลฯ จะเข้าใจในจุดนี้ และไม่กีดกันการบันทึกส่วนตัวดังกล่าว www.maitreeav.com |